“ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด” เกิดมาเพื่อเป็นเกราะป้องกัน ของร่างกาย : เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีงานวิจัยล่าสุดจากสถาบันการวิจัยเด็กเมอร์ด็อก (MCRI) ในออสเตรเลีย พบว่า เด็กๆมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการป่วยโรค โควิด-19 ไม่รุนแรง เนื่องจากระบบ “ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด” ของเด็กสามารถจู่โจมเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ว่าแต่ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดคืออะไร? และสำคัญอย่างไร ? เรามาหาคำตอบในเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ
ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immunity) หรือภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะ เป็นด่านแรกในการต่อสู้และป้องกันเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย กลไกนี้ไม่จำเพาะเจาะจง (Specificity) กับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้หลายชนิดและไม่มีความจดจำเชื้อโรค (Memory) ซึ่งกลไกนี้ สามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
การป้องกันด่านที่ 1 : จะเป็นการป้องกันที่บริเวณผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ ประกอบด้วย 3 กลไก
- กลไกทางกายภาพเป็นกลไกที่กีดขวางไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร รูขุมขน ต่อมเหงื่อและต่อมใต้ผิวหนังต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ประจำถิ่น
- กลไกทางเคมีเป็นกลไกที่อาศัยสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นมาทำลายเชื้อโรค เช่น กรดในกระเพาะอาหาร สารคัดหลั่งชนิดต่างๆ จากต่อมต่างๆ กรดแลคติกและอิเลคโทรไลท์ในเหงื่อ
- กลไกทางพันธุกรรมเป็นกลไกซึ่งทำให้เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถติดเชื้อในคนบางกลุ่มได้ เช่น คนไม่สามารถติดเชื้อไข้หวัดแมว และแมวไม่สามารถติดเชื้อคางทูมจากคนได้ หรือในคนที่เป็นโรค Sickle cell anemia จะมีความต้านทานต่อโรคมาลาเรีย
การป้องกันด่านที่ 2 : เป็นการป้องกันโดยปฏิกิริยาทางเคมีระดับเซลล์
ในส่วนของการป้องกันด่านที่ 2 จะมีหน้าที่ตอบสนองทันทีที่เชื้อโรคผ่านการป้องกันด่านแรกบุกรุกเข้าสู่ร่างกายได้ ร่างกายบริเวณนั้นจะเกิดปฏิกิริยาอักเสบ (Inflammatory response) โดยมีกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวจำพวก Neutrophillic granulocyte (phagocyte) ได้แก่ Macrophage, Dendritic cell, Neutrophils, Eosinophils และ Monocyte ออกจากเส้นเลือดไปสู่บริเวณที่มีสิ่งแปลกปลอมและจับกินเชื้อโรค (Phagocytosis) พร้อมกับกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ในขณะที่ Phagocyte กำจัดสิ่งแปลกปลอม จะมีการปล่อยสารเคมีเพื่อดึงดูดเม็ดเลือดขาวเข้ามาบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเชื้อโรค ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นมีลักษณะ ปวด บวม แดง ร้อน เรียกว่า การอักเสบ (Inflammation) นอกจากนี้ กรณีที่เป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ร่างกายจะสร้างอินเตอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในการขัดขวางการแบ่งตัวของไวรัส ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้
–
แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่อย่างเราอาจทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ แต่เราสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายได้อย่างง่ายๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกเพิ่มเติมในการเสริมเกราะให้แก่ภูมิคุ้มกันของเรา นั่นก็คือ การเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รวบรวมสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ง่าย และสะดวก เพื่อให้เรามีสุขภาพดีได้ในทุกๆ วัน
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “วิจัยพบ ‘ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด’ ช่วยป้องกัน ‘เด็ก’ ป่วยโควิด-19 รุนแรง https://bit.ly/2UQrEWi
- บทความเรื่อง “บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” http://guruvaccine.com/elearn/