ภูมิคุ้มกัน คืออะไร สำคัญแค่ไหนต่อร่างกาย ? ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีอยู่ทั่วร่างกาย เปรียบได้ดั่งกองทัพทหารที่ป้องกันประเทศ ซึ่งถ้าหากร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย วันนี้ผมจึงมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันมาฝาก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกันมากขึ้น
ร่างกายของคนเรานั้น มีกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระบบใหญ่ๆ คือ
1.ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายจุลินทรีย์ หรือสิ่งแปลกปลอมได้ในระดับหนึ่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา ผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ ฯลฯ โดยจะป้องกันโรคได้หลายชนิด ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล
2.ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (adaptive immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม โดยจะตอบสนองจำเพาะกับเชื้อโรคผ่านเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ซึ่งจะจดจําเชื้อโรคและตอบสนองได้เจาะจง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งหลังๆ ที่ร่างกายได้รับเชื้อ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ สามารถทำได้ 2 วิธีหลักๆ คือ
2.1 การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (active immunization) หมายถึง การให้แอนติเจนเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคหรือแอนติเจนชนิดนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
- การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังติดเชื้อตามธรรมชาติ(active naturally acquired immunity) คือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคตามธรรมชาติแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น เช่น โรคหัด คางทูม คอตีบ ไอกรน และอีสุกอีใส ฯลฯ
- การเกิดภูมิคุ้มกันหลังการให้วัคซีน(active artificially acquired immunity) คือ การให้วัคซีนหรือท็อกซอยด์ (toxoid) เพื่อป้องกันการเกิดโรค เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนแล้ว วัคซีนจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดนั้นได้ เช่น วัคซีนที่เตรียมจากเชื้อตายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันจำกัดเพียง 6 เดือน ถึง 2 ปี ได้แก่ วัคซีนไทฟอยด์ อหิวาตกโรค ไอกรน โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ ส่วนวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อเป็นหรือเชื้อที่อ่อนกำลังลง ได้แก่ วัคซีนโปลิโอชนิดกิน หัด หัดเยอรมัน คางทูมให้ผลคุ้มกันในระยะเวลาที่นานขึ้น
2.2 การให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค (passive immunization) คือ การให้แอนติบอดีเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น โดยได้มาจากสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ม้า กระต่าย หรือคนอื่น ฯลฯ ซึ่งคนที่ได้รับไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเอง และภูมิคุ้มกันแบบนี้จะให้ผลคุ้มกันทันที แต่อยู่ในร่างกายไม่นาน ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
- การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรง(passive naturally acquired immunity) โดยที่ร่างกายไม่ได้สร้างเอง เช่น ภูมิคุ้มกันบางชนิดจะผ่านรกจากแม่ไปสู่ลูกได้ หรือภูมิคุ้มกันจะถ่ายทอดผ่านทาง colostrum ที่อยู่ในน้ำนมแม่ ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะมีผลคุ้มครองได้ในระยะแรกของชีวิตแล้วก็หมดไป (ให้ผลคุ้มกันในช่วงทารก เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน)
- การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป(passive artificially acquired immunity) คือ ได้รับซีรั่ม หรือ gamma globulin จากคนหรือสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว เช่น การฉีด equine rabies immunoglobulin (ERIG) ให้กับผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด หรือการฉีด antivenom ให้กับผู้ที่ถูกงูพิษกัด โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดทันที แต่อยู่ได้ไม่นานนัก
ร่างกายของมนุษย์นั้น มีกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันที่ต้องทำงานประสานกัน ตั้งแต่ระดับเซลล์จนถึงอวัยวะหลักสำคัญๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ต่อมทอนซิล และม้าม โดยทำหน้าที่ป้องกัน ดักจับ และกำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย รวมถึงการรับโภชนาการที่เหมาะสม ล้วนแต่เป็นปัจจัยหลักสำคัญ ที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รู้ยังงี้แล้วก็อย่าลืมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายกันด้วยนะครับ
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “9 ข้อเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและวัคซีน ที่เราควรรู้และเข้าใจให้ถูกต้อง” https://bit.ly/3ijpwhI
- บทความเรื่อง “ชนิดของภูมิคุ้มกันแบ่งตามลักษณะการสร้าง” https://bit.ly/3xOQvII
- บทความเรื่อง “การสร้างประเภทของภูมิคุ้มกันโรคในร่างกาย” http://guruvaccine.com/
- บทความเรื่อง “ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System)” https://bit.ly/3z4UAc4
- บทความเรื่อง “ระบบภูมิคุ้มกัน” https://th.wikipedia.org/wiki/