ฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องรู้อะไรบ้าง อ่านก่อนฉีด !
โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ และวัคซีนโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่ใหม่มากเช่นกัน จึงทำให้มีข้อมูลการศึกษา และงานวิจัยออกมาน้อย จึงมีประชาชนจำนวนมากที่เกิดความกังวล และมีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนว่า ฉีดแล้วป้องกันได้จริงไหม แล้ววัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันครับ
ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจหลักการของการผลิตวัคซีนโดยทั่วไปกันก่อน วัคซีน คือ การนำเอาเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรง จนไม่สามารถทำให้เกิดโรคในร่างกายได้ แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เช่นเดียวกับในวัคซีนโควิด-19 ที่มีการนำเอาเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ มาทำเป็นวัคซีนแล้วฉีดเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ เพื่อให้เราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาต่อไปว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะยังคงอยู่ในระยะยาวหรือไม่ และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เนื่องจากไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะสามารถครอบคลุมการระบาดในระยะยาวได้หรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องฉีดทุกปีเหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเปล่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าติดตามข้อมูลกันต่อไปครับ
ปัจจุบันวัคซีนโควิด –19 มีกี่ชนิด?
ในขณะนี้ทุกบริษัทยาทั่วโลกพยายามผลิตวัคซีนโควิด-19 ออกมาใช้ให้เร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการผลิตของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกัน จึงทำให้วัคซีนมีความแตกต่างกันไปด้วย จากข้อมูลศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีการจำแนกวัคซีนตามเทคโนโลยีในการผลิตได้ 4 ชนิดด้วยกัน คือ
- Inactivated Vaccineของประเทศจีน โดยบริษัท SinoPharm, SinoVac Biotech และ Wuhan Institute of Biological Products วัคซีนชนิดนี้ คือ การเอาไวรัสทั้งตัวมาทำให้อ่อนแรง และฉีดเข้าไปในร่างกายของคน เพื่อทำให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนมาตรฐานของโรคชนิดอื่นๆ ที่ทำมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน
- Adenovirus Vector Vaccineเป็นวิธีการผลิตของบริษัท CanSino ประเทศจีน บริษัท AstraZeneca ของประเทศอังกฤษ และ Gamaleya ของประเทศรัสเซีย ซึ่งก็คือการตัดต่อเอายีนของไวรัสโควิด-19 เข้าไปใส่ในตัว Adenovirus และผลิตเป็นวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย
- mRNA Vaccineเช่น Moderna วัคซีนตัวนี้ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับวัคซีนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาพัฒนา ขณะนี้วัคซีนชนิดนี้เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 แล้ว สามารถกระตุ้นให้คนปกติ และผู้สูงอายุเกิดภูมิคุ้มกันได้ดี นอกจากนั้น ยังมี Sputnik V จากประเทศรัสเซีย และ Pfizer จากประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ซึ่งมีข้อดีคือผลิตได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณ 95%
- Protein-based Vaccineใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนของเปลือกไวรัส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะมีการใช้ในวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น ตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีการใส่ adjuvant ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่ บริษัท Novavax ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ บริษัท Sanofi ร่วมมือกับบริษัท GSK
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพในระยะยาวของวัคซีนทั้ง 4 ชนิด ทั้งเรื่องผลของภูมิคุ้มกันภายหลังจากการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ และต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนต้องเฝ้าติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อไปในอนาคตครับ
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “8 คำถามน่ารู้ วัคซีนโควิด-19” https://bit.ly/3BdEyP4