คนทำงาน กับหนี้บัตรเครดิต แก้ได้อย่างไร ?
บัตรเครดิตเปรียบเหมือนดั่งดาบสองคม สามารถเป็นได้ทั้งเพื่อนรัก หรือศัตรูตัวฉกาจ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรานั่นเอง บัตรเครดิตทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่ในบางครั้งหากใช้แบบไม่ระมัดระวัง ก็อาจติดกับดักจนกลายเป็นมีหนี้สินก้อนโตกันได้ง่ายๆ ดังนั้น วันนี้ผมจึงขอเสนอ 8 วิธีใช้การบัตรเครดิตอย่างไร? ไม่ให้ติดกับดักหนี้มาฝากทุกคนครับ
- อย่าจ่ายชำระหนี้แค่ “ขั้นต่ำ” เด็ดขาด!!!
การใช้บัตรเครดิตแบบผิดๆ คือ การให้บัตรเครดิตเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ คือ ใช้รูดสินค้าจำนวนมากในคราวเดียว หรือรูดรวมภายในยอดบิลเดียวกัน ยอดหนี้จะกลายเป็นกองใหญ่ แล้วมาทยอยจ่ายขั้นต่ำภายหลัง โดยเฉลี่ยแล้วบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำ 18-20% ต่อปี ซึ่งหากจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ทุกๆ เดือน ดอกเบี้ยก็จะพอกพูนเป็นเงินต้น และคิดดอกเบี้ยทับไปอีกตลบจนกลายเป็นหนี้สินก้อนโต โดยคิดดอกเบี้ยในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจ่ายครบทั้งต้นทั้งดอก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ถ้ายังจ่ายยอดเก่าไม่หมดแล้วรูดยอดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก หนี้บัตรเครดิตเหล่านี้จะกระชากเราลงสู่วังวนหนี้ และแน่นอนว่าถ้าไม่สามารถชำระได้หมดตามระยะเวลา เราก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นลูกหนี้ชั้นแย่ และอาจส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อในอนาคต
- รูดเท่าไร..ก็ต้องจ่ายเท่านั้น!!!
“จ่ายเต็มจำนวนทุกครั้ง” เป็นวิถีของลูกหนี้ชั้นดี ที่ทำให้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ เพราะการจ่ายชำระเต็มจำนวน และตรงตามเวลาที่กำหนด หรือการจ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ก็จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยใดๆ เลย แต่ในทางตรงกันข้าม หากจ่ายแค่ยอดขั้นต่ำก็จะถูกคิดดอกเบี้ยทบไปเรื่อยๆ แบบในข้อที่ 1 ซึ่งการจ่ายเต็มวงเงินที่ใช้ นอกจากจะเป็นการช่วยไม่ให้เราหลุดเข้าไปติดกับดักของหนี้บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยสูงแล้ว ยังทำให้เรากลายเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตในอนาคตได้อีกด้วย
- “จำกัดวงเงิน” ต่อรอบบิล
ปกติวงเงินในบัตรเครดิตมักจะอนุมัติประมาณ 1.5 ของเงินเดือน ซึ่งแน่นอนว่าการมีบัตรเครดิต ทำให้เราเหมือนมีเงินสำรองก้อนหนึ่งอยู่ในมือ ซึ่งถ้าหากรูดเต็มวงเงินตั้งแต่รอบแรกโดยที่ไม่มีเงินสำรองจ่าย แล้วรอเงินเดือนที่จำนวนพอๆ กับเงินที่ใช้ไปล่วงหน้าไปจ่ายหนี้บัตรเครดิต ชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปเป็นคนทำงานเพื่อถวายตัวให้กับหนี้บัตรเครดิตแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น ดังนั้น ก่อนใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือนจึงควร “จำกัดวงเงินที่จะใช้แต่ละเดือนให้ชัดเจน” โดยประเมินตามความสามารถในการจ่ายชำระคืนของตัวเอง เช่น วงเงินทั้งหมด 30,000 บาท จำกัดการใช้ต่อเดือน 10,000 บาท เพื่อเป็นกรอบเตือนสติไม่ให้ใช้เงินเกินกำลังในการจ่ายชำระคืนในแต่ละเดือน ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยป้องกันการรูดบัตรเพลินเกินห้ามใจจนกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งตามมาได้นั่นเอง
- ไม่มีเงิน..ไม่รูด!!!
“ลองเก็บเงินก่อนรูด” เป็นการสร้างเงินสดสำรองเตรียมไว้ เพื่อให้มั่นใจว่า เรามีกำลังที่จะจ่ายชำระเงินคืนได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีเงินสดสำรองสัก 50% ของสินค้าที่จะซื้อผ่านบัตรเครดิต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจ่ายเงินเต็มจำนวนในเดือนถัดไป หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ การซ้อมเป็นหนี้ก่อนผ่อนชำระจริง โดยการหักเงินเข้าบัญชีเพื่อซ้อมผ่อนก่อนการจ่ายจริงอย่างน้อยๆ สัก 3-5 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการเงินเกิดขึ้นในระหว่างการผ่อนชำระ เราจะยังสามารถผ่อนชำระได้ตรงตามเวลาแบบปลอดดอกเบี้ยได้อย่างสบายๆ
- “อย่ากดเงินสด” จากบัตรเครดิต
บัตรเครดิตก็สามารถกดเงินสดออกมาใช้ได้ แต่หากไม่จำเป็น หรือฉุกเฉินจริงๆ อย่าคิดที่จะกดเงินสดออกมาใช้เด็ดขาด เนื่องจากค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยรวมๆ กันแล้ว แพงมหาโหด!!! ทางที่ดีถ้าต้องการเงินสด หรือเงินก้อนเพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ขอแนะนำเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจะตอบโจทย์มากกว่า
- ต้อง “จ่ายตรงเวลา” ทุกเดือน
การจ่ายเงินชำระหนี้บัตรเครดิตตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดทันทีที่สรุปยอดบิล หรือจ่ายก่อนวันครบกำหนดชำระ นอกจากเราจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยที่ไม่ควรจะต้องเสียแล้ว การจ่ายเงินตามเวลาที่กำหนดยังช่วยรักษาสถานะลูกหนี้ชั้นดี ซึ่งอาจส่งผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตได้อีกด้วย
- ควรทำความเข้าใจรายละเอียดใน “ใบแจ้งหนี้”
เอกสารการแจ้งหนี้ หรือใบแจ้งหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสิ่งที่หลายคนมักจะมองข้าม และไม่ศึกษาให้ละเอียด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ควรตรวจสอบใบแจ้งหนี้อย่างละเอียด ทั้งวันที่สรุปยอด และวันครบกำหนดชำระ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการผ่อนจ่าย ซึ่งจะมีการคำนวณดอกเบี้ยไว้ หากเราไม่ได้ทำการตรวจสอบ และทำความเข้าใจในการคำนวณอัตราดอกเบี้ย หรือรอบการจ่ายชำระ ก็อาจทำให้เราเข้าใจผิดจนนำไปสู่การวางแผนชำระหนี้ที่ผิดไปได้
ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบยอดเงินที่ใช้ หรือยอดเงินที่ต้องชำระที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ ผ่านแอพพลิเคชั่นของแต่ละบัตร ซึ่งช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของการใช้จ่ายของตัวเองได้อย่างละเอียด หรือสามารถระงับการใช้งานได้ทันท่วงทีเมื่อมีแจ้งเตือนการใช้บัตรที่ผิดปกติได้อีกด้วย
- ใช้ “สิทธิพิเศษ” ของบัตรให้เป็นประโยชน์
ข้อดีของการใช้เครดิตที่แตกต่างจากการใช้เงินสด คือ “สิทธิประโยชน์ที่เงินสดให้ไม่ได้” เช่น เครดิตเงินคืน (Cashback) การผ่อน 0 % การสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกส่วนลด หรือของรางวัลต่างๆ หรือแม้แต่การกำหนดไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บัตรเครดิตในแต่ละประเภท เช่น สายท่องเที่ยว สายช้อปปิ้ง ที่จะมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันออกไปในบัตรแต่ละประเภท ดังนั้น เราจึงควรเลือกใช้สิทธิพิเศษของบัตรเครดิตให้เหมาะสมกับการใช้งาน และไลฟ์สไตล์ของเรา
หลายๆ คนเข้าใจว่า บัตรเครดิตทำหน้าที่เป็น “เงินอนาคต” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในอนาคตเราอาจจะไม่มีเงินก้อนนั้นจริงๆ เลยก็ได้ และการรูดซื้อของไปล่วงหน้าก็เท่ากับว่าการเงินของเรากำลังติดลบเสียด้วยซ้ำไป!!! ถึงแม้คำแนะนำทั้ง 8 ข้อที่ผมได้รวบรวมมานี้ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกินครึ่งของคนที่ติดกับดักหนี้บัตรเครดิต คือ คนที่เชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถหาเงินมาจ่ายชำระหนี้ได้ในอนาคต ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินสดเลยในมือ แถมยังปราศจากการวางแผนในจุดนี้กันแทบทั้งสิ้น!!!
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “7 เทคนิคใช้บัตรเครดิตไม่ติดกับดักหนี้บัตรเครดิต” https://bit.ly/3C7jvP1
- บทความเรื่อง “8 วิธีใช้บัตรเครดิตยังไงให้รวย” https://bit.ly/3ptXWmi